ก่อนที่นักกีฬาจะลงสนาม จะสังเกตเห็นได้ว่าพวกเขามักจะยืดเส้นยืดสายก่อนลงแข่งจริง หรือนักร้องมักจะวอร์มเสียงก่อนขึ้นแสดงเสมอ จะเห็นได้ว่าการเตรียมตัวก่อนนั้นนอกจากจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บแล้ว ยังช่วยให้สามารถพัฒนาทักษะและความคล่องแคล่วได้อีกด้วย การเล่นเปียโนก็เช่นกัน หลายคนอาจมองข้ามการวอร์มนิ้วก่อนซ้อมเปียโน วันนี้เลยอยากจะเล่าถึงประโยชน์และความสำคัญของการอุ่นเครื่องก่อนที่คุณจะเข้าสู่การเล่นบทเพลงที่คุณชื่นชอบกัน
ป้องกันอาการบาดเจ็บ
หลายคนอาจสงสัยว่าการเล่นเปียโนจะทำให้เราเกิดอาการบาดเจ็บได้อย่างไร การเล่นเปียโนที่ดีนั้นต้องอาศัยท่าทางการนั่งที่ถูกต้องและผ่อนคลาย การนั่งหลังตรง ไม่ควรนั่งเกร็งไหล่ เท้าควรวางราบบนพื้น ในส่วนของข้อมือ มือ และนิ้วจะต้องขนานกัน
ในขณะที่มือของคุณพริ้วไหวอย่างรวดเร็วขณะเล่นเปียโนก็อาจทำร้ายกล้ามเนื้อของคุณได้ด้วยเช่นกัน หากคุณไม่อุ่นเครื่องก่อนซ้อมหรือวอร์มนิ้วไม่เพียงพอ เหล่านี้ล้วนเสี่ยงที่คุณจะเกิดอาการเจ็บปวด อับเสบ หรือเมื่อยล้าได้อีกด้วย
การวอร์มนิ้วนั้นไม่เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อมของข้อมือคุณเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมพร้อมในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกก่อนบรรเลงบทเพลงที่คุณชื่นชอบ
การจดจำของกล้ามเนื้อ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มเล่นเปียโนใหม่ๆ ตำแหน่งข้อมือการวางนิ้วอาจจะดูเก้ๆกังๆ เมื่อกดนิ้วลงไปบนลิ่มเปียโนอาจจะดูแปลกๆ ส่งผลให้เสียงที่เกิดขึ้นหนักเบาไม่เท่ากัน นั่นเป็นเพราะกล้ามเนื้อของคุณยังไม่แข็งแรงและยังไม่คุ้นเคย จึงได้เสียงที่ไม่มีคุณภาพ
แบบฝึกหัดการวอร์มนิ้วจะช่วยคุณได้มากทีเดียว สิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อของคุณจดจำได้มากขึ้น ทำให้คุณสามารถควบคุมการเล่นเปียโนให้ได้เสียงที่มีคุณภาพมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเล่นรูปแบบใดก็ตาม ทั้งเพลงช้าเพลงเร็ว จังหวะสั้นหรือจังหวะยาว
สร้างนิสัยในการวอร์มนิ้วก่อนฝึกซ้อม
รูปแบบการวอร์มนิ้วนั้นอาจไม่จำกัดโดยเริ่มจากการซ้อมสเกล (Scale) หรือ อาร์เพจจิโอ (Arpeggio) เท่านั้น นั่นอาจทำให้คุณรู้สึกเบื่อได้หากฝึกอะไรซ้ำเดิม โดยผู้เล่นแต่ละคนก็จะมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณสามารถวางแผนและปรับการวอร์มนิ้วในระดับที่ยากขึ้นซึ่งจะช่วยพัฒนาให้มีทักษะขั้นสูงอีกเช่นกัน
พัฒนาโสตทักษะ (Ear Training)
เมื่อเราวอร์มนิ้วผ่านการซ้อมสเกล (Scale), อาร์เพจจิโอ (Arpeggio) หรือรูปแบบอื่นๆแล้วนั้น นั่นทำให้ประสาทการได้ยิน (Ear Training) ดีขึ้นอีกด้วย เพราะคุณสามารถแยกเสียงโน้ตหรือคอร์ดอื่นๆได้ เมื่อทักษะนี้ได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ คุณสามารถพัฒนาตัวเองจากการเป็นนักดนตรีไปเป็นคนแต่งเพลง หรือคนทำดนตรีได้อีกเช่นกัน
เหล่านี้คือประโยชน์ที่คุณไม่ควรจะมองข้าม การวอร์มนิ้วไม่จำเป็นต้องเล่นให้เร็ว การค่อย ๆฝึกไปพร้อมกับเมโทรนอม (Metronome) ในจังหวะที่ช้า ๆ เช่นเริ่มจาก BPM = 60 แล้วเพิ่มความเร็วไปเรื่อย ๆเมื่อได้คุณภาพเสียงที่ดี การค่อยๆฝึกจากช้าจะช่วยให้คุณควบคุมนิ้ว รวมถึงคุณภาพเสียงได้ดีขึ้น อาจจะเริ่มจาก 5 -10 นาทีก่อนเพื่อฝึกความแข็งแรงของนิ้วขั้นพื้นฐาน แล้วพัฒนาทักษะต่าง ๆเพื่อความเป็นมืออาชีพต่อไป
สำหรับท่านที่สนใจหนังสือแบบฝึกหัดเปียโนที่ช่วยเพิ่มกำลังนิ้วให้แข็งแรง สามารถดูรายละเอียดได้ คลิกที่นี่